000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > เครื่องเสียงรถยนต์ > บทความเครื่องเสียงรถยนต์ > เมื่อ EQ ดื้อ (ปรับเท่าไรกลับแย่ลง)
วันที่ : 25/03/2016
10,069 views

เมื่อ EQ ดื้อ (ปรับเท่าไรกลับแย่ลง)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

          ปรี EQ (หรือ EQ ) คือเครื่องตกแต่งเครื่องสุ้มเสียง ย่อมาจากคำว่า EQUALIZER ซึ่งก็คืออุปกรณ์ไว้ช่วยยกความถี่ เสียงที่ดังหรือค่อยเกินไป โดยยก-ลด ได้ละเอียดกว่าปุ่มยกทุ้ม,แหลม ที่มากับตัววิทยุ (และมักมีปุ่มกดยกทุ้มลึก หรือ LOUDNESS มากับตัววิทยุด้วย)  ปรีEQ จะต่อคั่นระหว่างตัววิทยุ (ฟรอนท์)กับตัวเพาเวอร์แอมป์ (ตัวขยายเสียง)

          ปรี EQ มักซอยช่วงความถี่มาอย่างน้อยก็ 5 ช่วงคือ ทุ้มลึก ทุ้ม กลาง กลางสูง และสูง บางรุ่นมีมาให้ถึง 7 ช่วงโดยเพิ่มกลางต่ำและทุ้มลึกมาก (เช่น แทนที่จะเป็นทุ้มลึกที่ 60 Hz ก้เพิ่มให้ยกได้อีกที่ 30 Hz)ทำให้การปรับแต่งเข้าเป้าหรือตรงเป้าได้ดีกว่า การยกหรือลดทำได้แม่นยำกว่าโดยไม่ไปเพิ่มหรือลดความถี่ข้างเคียงที่ไม่เป็นปัญหา มีเหมือนกันที่ซอยความถี่ละเอียดกว่า 7 ช่วง (7 BAND) อาจถึง 12 ช่วงหรือมากกว่า ทำให้การปรับแต่ง “สั่งได้”และตรงเป้ายิ่งขึ้น แต่คนปรับก็ต้องมีความรู้เรื่องเสียงพอควร หรือถ้าไม่รู้มากก็ต้องใช้เวลาปรับนานหน่อย ถ้าชอบถี่ยิบมากกว่านี้ มักไม่ใช่อนาล็อก EQ แล้ว แต่เป็นดิจิตอล EQ  เพราะถ้าเป็นอนาล็อกราคาจะพุ่งโลดเลย

          อย่างไรก็ตาม เรื่องของเครื่องเสียง ยิ่งมากหมอยิ่งมากความ ยิ่งปรับได้เยอะยิ่งก่อให้เกิดข้อเสียแถมมามากขึ้น โดยเฉพาะอนาล็อก EQ จะมีปัญหาคลื่นต่างความถี่มาไม่พร้อมกัน เสียง,มิติ,ทรวดทรงมักจะเสีย ขณะที่ดิจิตอล EQ ก็มักเสียงแห้ง (แม้มีความกังวานก็แห้งๆไม่พลิ้วฉ่ำ) ทรวดทรงชิ้นดนตรี นักร้อง มักแบน,ฟุ้ง ไม่เป็นทรวดทรง 3 มิติ เวทีเสียงมักตื้น ไม่มีลำดับตื้น-ลึก นักร้อง นักดนตรี เสียงไปโทนเดียวกันหมด และ เหมือนหุ่นยนต์ ร้อง,เล่น ไม่มีจริตจะก้าน,ลีลา,วิญญาณ (ดิจิตอล EQ บ้านระดับไฮเอนด์ราคาสามแสนกว่าบาทก็ยังเป็นแบบนี้ นับประสาอะไรกับดิจิตอล EQ ถูกๆในรถหรือที่มีมากับวิทยุหรือกล่อง PROCESSOR แยก)

          ปรี EQ จะใช้ได้ผลดีมีกรณีเดียวคือ แหล่งรายการบันทึกมาขาดตกบกพร่อง (SOURCE ไม่สมบูรณ์) เราก็พอจะใช้ EQ ช่วยยกตกแต่งเสียงได้บ้าง แต่ถ้าเขาบันทึกมาแย่มาก ต่อให้ซูเปอร์ EQ ก็ช่วยไม่ได้ ช่วยแล้วก็จะกลับแถมปัญหาบาง อย่างเป็นกระพรวนมาด้วย จำไว้ว่า  ปรีEQ ไม่ใช่จอกน้ำอมตะทิพย์ที่ช่วยให้คนตายกลับฟื้นคืนชีพได้

          ปรี EQ จะยิ่งใช้ไม่ได้ผลเลยกับการติดตั้งที่ผิดๆอันก่อให้เกิดการรบกวนกันเอง (Interference) เช่น สายแตะต้องกัน สายม้วนทบทับตัวเอง สายไฟแตะสายลำโพง สายลำโพงทุ้ม,แหลมมัดด้วยกัน วางเครื่องทับซ้อนกัน การกวนจากคลื่นขยะ ทางอากาศ ทางสายไฟ ทางแสง (LED) การติดตั้งฟรอนท์เอียง ฯลฯ หรือสุ้มเสียงที่บางพุ่งจัด จากการสั่นสะเทือน ฯลฯ  การติดตั้งดอกลำโพงแหลมห่างจากดอกกลางทุ้ม,การก้องอู้(อคูสติก) ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นปัญหาแบบแกว่ง,ไม่อยู่เป็นสุข,ไม่อยู่ในร่องในรอย เปลี่ยนไปมาตลอดเวลา (Dynamic) ซึ่งไม่มีEQ ที่ไหนในโลกจะแก้ได้ เพราะการปรับ EQ เป็นการปรับแล้วนิ่งตายตัว (Static) ในแง่ตรรกวิทยา ไม่มีปัญหาที่แกว่งใดจะแก้ได้ด้วยวิธีตายตัว การปรับแบบ AUTO EQ หรือ ROOM EQ ที่มักมีมากับฟรอนท์หรือ Processor จึงเป็นเรื่องหลอกเด็กทั้งเพ (ที่แน่ๆเสียงฟุ้งแบนไปหมด)

          ในกรณีที่ยังยืนยันจะปรับ EQ ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทราบอีกว่า ทำไมการปรับนั้นจึงเหมือนมีผลน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ยิ่งปรับยิ่งเข้าป่า ไม่ได้ดังใจเสียที เหมือนจับปูใส่กระด้ง บางครั้งเหมือนได้ แต่สักพักมันไม่ใช่ ก็ต้องเทียวปรับกันอยู่อย่างไม่รู้จบ

          ถ้าเรานำประเด็นเรื่องปัญหาแบบแกว่ง (Dynamic) ทั้งหลายมาวิเคราะห์อย่างละเอียด เราจะได้คำตอบของอาการดื้อ EQ  ดังนี้

  1. ทุ้มยกไม่ขึ้น ยกเท่าไรมันก็ไม่อิ่ม ไม่แน่น มีแต่ความดังหลวมๆเป็นโพรง ปัญหาอาจมาจาก
    1.1 เกิดการไม่ลงตัวของการปรับสัญญาณขาเข้าของเพาเวอร์แอมป์ (IN PUT GAIN) กับสัญญาณขาออกจากปรี EQ หรือขาออกจากฟรอนท์มาปรี EQ  ปรับขาเข้า (GAIN) ของปรีEQ ไม่ลงตัว เรียกปรับ LEVEL MATCHING ไม่ลงตัว

    ถ้าขาเข้าของปรี EQ ตั้งไว้ให้ดังมากไป หรือ ขาเข้าของเพาเวอร์แอมป์ตั้งไว้แรงไป (เร่งขาเข้ามานิดเดียวก็ ดังลั่น) เสียงมักอวบ,บวม,หนา อื้ออึงถ้าเร่งเยอะ ลดทุ้มที่ EQ ก็กลับทำให้เสียงกลางบาง,แบน,แหลมบางเป็นเส้นเล็กไปเลย

    หรือตรงข้าม เร่งขาเข้าของปรี EQ ไว้ต่ำไป หรือขาเข้าของเพาเวอร์แอมป์ไว้ต่ำไป ต้องเร่งที่ฟรอนท์เยอะ เสียงมักผอมบาง แม้จะโปร่งทะลุดี แต่เมื่อต้องการเนื้อเสียงหรือทุ้ม มักยกที่ปรี EQ ไม่ขึ้น ยกจนสุดก็ป้อแป้ ไม่มีเรี่ยวแรง

    ที่ถูกต้องบาลานท์ให้ดี ระหว่างขาออกจากฟรอนท์มาเข้าขาเข้าปรี (1 ด่าน) และจากปรีออกมาเข้าเพาเวอร์แอมป์ (อีก 1 ด่าน) 90% ของการจูนเสียงที่ผิดพลาดของร้านติดตั้ง มาจากปัญหา LEVEL MATCHING นี้ทั้งนั้น

    1.2 กำลังขับไม่ถึง ในอดีตตัววิทยุไฮเพาเวอร์มีกำลังขับในตัวแค่ 7 – 20W/CH การยก EQ (ของวิทยุ)มากๆมักขับไม่ไหว ดังแต่ไม่อิ่มแน่น ปัจจุบันวิทยุเกือบทั้งหมดมีกำลังขับในตัวถึง 40 – 50W/CH ซึ่งถือว่าน่าจะพอเพียง กับลำโพงทั่วไปที่ความไว 89 dB SPL/w/m ขึ้นไป
    ถ้าใช้ปรี EQ ภายนอก มีเพาเวอร์แอมป์ด้วย ถ้ายกทุ้มไม่อิ่มอาจเป็นเพราะเพาเวอร์แอมป์กำลังขับต่ำเกินไป (เช่น 40 – 50 W/CH)
    อย่างไรก็ตาม ต้องดูไฟที่เข้าวิทยุ,ปรี,เพาเวอร์แอมป์ด้วย ถ้าไฟตกมาก จะพบว่า เสียงทุ้มจะกระป๋อง ไม่อิ่มหนัก กลางเครียด แหลมจัดกระด้าง ตรวจระบบไฟให้ดี

    1.3 ดอกลำโพงและตู้เองไปไม่ไหว โดยเฉพาะดอกซับ,ดอกกลางทุ้ม เช่น แม่เหล็กเล็กนิดเดียว หรือ กรวยลำโพงแบนซึ่งถ้าออกแบบไม่ดี มันจะรับการขยับเข้า-ออกแรงๆไม่ได้
    หรือตัวดอกลำโพงเองไม่ตอบสนองความถี่ต่ำ เช่นลำโพงที่เปิดได้ดังมาก (ความไวสูง) ทุ้มมักตกมากตกเร็ว จึงยกไม่ค่อยขึ้น
    อีกกรณีคือ ตัวตู้หรือปริมาตรอากาศหลังดอกลำโพงมีน้อยเกินไป ตู้เล็กเกินไป เกิดการหักล้างกันเอง ผลคือยิ่งยก EQ ยิ่งไม่ได้ผล
    อีกกรณีคือ มีการรั่วของอากาศหลังดอกลำโพงไปหักล้างกับอากาศหน้าดอกลำโพง เช่นตู้ซับที่ตีไม่ดี อากาศรั่วตามขอบ ติดลำโพงที่ประตู มีลมรั่วจากภายในบานประตูผ่านช่องเหล็กโปร่ง (รูพรุน)ของโครงรถ มาเขย่าแผ่นปิดบางๆให้กระพือสั่นอากาศไปหักล้างอากาศหน้าดอกลำโพง

    1.4 ต่อดอกลำโพงเสียงกลางกับดอกทุ้ม หรือ ดอกทุ้มกับดอกซับ กลับเฟสกัน เกิดการหักล้างกันเอง ยิ่งเร่ง        วอลลูม ยิ่งยกปรี EQ ยิ่งหักล้างมากขึ้น ต้องฟังดูทีละดอกว่า ดอกไหนเสียงหลุดลอยออกมา (อีกดอกอย่าพึ่งต่อ) ก็สลับสาย ลำโพงบวก,ลบ ที่เข้าอีกดอกที่เคียงคู่กันให้ขยับกรวยทิศเดียวกัน

    1.5 ดอกลำโพงกลางทุ้ม (หรือซับ) ของซีกซ้ายกับขวาต่อสายลำโพงกลับทิศกัน เกิดการหักล้างกันเอง ให้ลองฟังดูว่า ขวาหรือซ้าย ชัด-ดังกว่า ก็สลับสายลำโพงอีกข้างตาม ถ้าทุ้มอิ่มแน่น เป็นตัวขึ้นก็โอเค
     
  2. ยกเสียงกลางแล้วไม่หลุดลอยออกมา เกิดอาการจมหรือแบนติดจอ บางครั้งคล้ายๆก้องด้วย สาเหตุอาจมาจาก

2.1 ปัญหา LEVEL MATCHING ดังได้กล่าวไว้แล้วกรณีเสียงทุ้ม

2.2 สติ๊กเกอร์ที่มักพิมพ์ด้วยสีที่มาจากตะกั่ว ที่ปะติดตูดแม่เหล็กของดอกลำโพง ให้ลอกออก เสียงกลางกับแหลมจะกลืนกันดีขึ้นด้วย

2.3 ยางครอบ,พลาสติกครอบ หรือ ถ้วยอลูมิเนียมครอบตูดแม่เหล็กและกล่องแบ่งความถี่เสียง พบบ่อยกับพวกดอกทุ้ม,ดอกซับ,ดอกแหลม พวกนี้กดการสวิงเสียงไว้ (ลำโพงบ้านพบปัญหาแล้วกับดอกที่บอกว่าป้องกันสนามแม่เหล็กรบกวนจอภาพ.....หลอดCRT ดอกพวกนี้มีฝาโลหะครอบตูดแม่เหล็ก) ทำให้เสียงอั้นจม โดยเฉพาะ เสียงกลางยิ่งฟังออกชัด ให้ถอดฝาครอบออกให้หมด

2.4 ดอกลำโพงเสียงกลางกับดอกแหลมต่อสายลำโพงกลับเฟสกัน เกิดการหักล้างกันเอง เสียงจะแบนจมติดจอ ยก EQ ก็กลับดังก้องแผด ไม่กระเด็นหลุดลอยออกมา (ไม่เป็นเม็ดๆ)

2.5 การตัดแบ่งความถี่เสียงเข้าดอกกลางกับเข้าดอกแหลม ไม่ต่อเนื่องรับกัน เกิดการโหว่ของเสียงกลางสูงกับแหลมต่ำ ทำให้การยก EQ ที่กลางเปะ (เช่น 1 KHz) หรือกลางสูง (2KHz – 3KHz) เหมือนไม่ได้ผล อาจต้องยกมากจนสุดจึงจะพอมี แสดงว่าต้องเลื่อนจุดแบ่งความถี่ของวงจรแบ่งเสียงใหม่

2.6 สายลำโพงที่ไปดอกกลาง ย้อนทิศ,หรืออะไหล่อุปกรณ์ของวงจรแบ่งเสียงของดอกกลาง ต่อขากลับทิศ ทำให้เสียงกลาง ฟุ้ง แบน ยกให้หลุดลอยออกมาไม่ได้ ยิ่งยกยิ่งฟุ้งบานอื้ออึงไปหมด

2.7 ดอกลำโพงกลางเกิดการสั่นค้างที่กลางสูง เสียงอู้,ก้อง,ขึ้นจมูกซึ่งเป็นปัญหาแกว่ง ที่จะก้องมากน้อยขึ้นกับความดัง,การกรรโชก การแก้ด้วย EQ จะไม่ได้ผลจริง

2.8 ติดตั้งดอกแหลมห่างจากดอกกลางทุ้มมากไป (ห่างกันเกิน 1 คืบก็แย่แล้ว ดีที่สุดคือชิดกันที่สุด ถ้ามีฝีมือ ยกดอกแหลมมาลอยตัวอยู่หน้าดอกกลางทุ้มได้ยิ่งวิเศษ) ที่เป็นปัญหา “แกว่ง” ดังที่กล่าวแล้ว จะสังเกตว่า ต้องเร่ง EQ ที่กลางต่ำมากเพื่อให้เสียงทุ้มอิ่ม มีเนื้อหนัง แต่พอหรี่วอลลูมที่วิทยุลง เสียงก็กลับบางลงอีก หัวโน้ตไปทาง (มาจากดอกแหลม) ตัวโน้ตไปทาง (มาจากดอกกลางทุ้ม) ต้องเร่งวอลลูมดังๆเสียงจึงจะอิ่ม ยก EQ เห็นผล แต่พอเสียงโหมดังมากๆก็อื้ออึงไปหมดอย่างไม่ได้ศัพท์ ปัญหานี้ถ้าเปิดไม่ดัง เสียงจากนักร้องกี่คนๆจะผอมบาง ออกโทนเดียวกันหมด ชิ้นดนตรีก็เหมือนกัน มันฟังคล้ายกันไปหมด ไม่แยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร

2.9 เสียงกลางแผดจ้า เป็นบางครั้ง เกิดจากเดินสายลำโพง,สายเสียงย้อนทิศหรือสายลำโพงแตะกับสายไฟ แก้ด้วย EQ จะผีเข้าผีออกไม่แน่นอน

        3.   เสียงแหลมไม่สดใส เสียงแหลมที่ดีต้องสดใส ระยิบระยับ เป็นประกาย แทบจะรู้สึกได้ถึงอณูอากาศที่แตกตัวรอบๆตัวโน้ต (เรียก AIRY หรือ ลมหายใจของตัวโน้ต) ถ้าแหลมหุบ แห้ง ด้าน ทื่อ ห้วน อาจเกิดจาก

3.1 การใช้เพาเวอร์แอมป์ขับซับที่เป็น Class D ซึ่งมักให้เสียงที่แห้ง,ทึบ,ด้านกว่าเพาเวอร์แอมป์ Class AB,หรือ Class A เมื่อซับเสียงทึบ แห้ง จะพลอยลามให้กลางแห้งทึบตาม และลามไปถึงแหลมทึบแห้ง,ห้วนด้วย มันถึงกันหมด ผ่านการเป็น Sub harmonics และ upper harmonics ซึ่งกันและกันระหว่างเสียงทุ้ม กลาง แหลม แบบนี้ยก EQ ที่แหลมให้ตายก็ทึบด้านอยู่ดี

3.2 แม้ใช้เพาเวอร์แอมป์ Class AB ขับซับ แต่ถ้าเอาสเตอริโอแอมป์ Class AB มาบริดจ์โมโนขับซับ 1 ดอก (วอยซ์เดียว) อันทำให้ความสามารถของภาคขาออกของเพาเวอร์แอมป์ในการหยุดการสั่นค้างของกรวยซับลดลงครึ่งหนึ่ง ผลคือ ทุ้มลึกจะเบลอ,คราง,กระพือ ทำให้กลางขุ่น แหลมทึบขุ่นได้เช่นกัน

3.3 เช่นเดียวกับดอกกลาง การติดสติ๊กเกอร์ที่ตูดแม่เหล็ก,การทำฝาครอบทั้งพลาสติก,โลหะต่อตูดแม่เหล็ก,สายแหลมย้อนทิศ ล้วนทำให้การยกเสียงแหลมด้วย EQ ได้ออกมาทะแม่งๆคือ แหลมดังขึ้นแต่ไม่สดใสขึ้น ออกมาแบบด้านๆ เสียไม่ได้ ไม่พลิ้วระยิบระยับ ไม่มีประกาย

3.4 การติดดอกแหลมห่างดอกกลาง ยิ่งติดห่างมาก แหลมยิ่งจัด,นำหน้า ครั้นพอปรับลด EQ แหลมลง กลางก็กลับ ทึบไม่โปร่งทะลุ ต้องเร่งดังจึงจะพอเปิดโปร่งบ้าง จะเหมือนจับปูใส่กระด้ง

3.5 กรณีดอกเสียงแหลมสะบัดปลาย คือ ดอกแหลมเกิดการสั่นค้างของกรวยหรือโดมที่ความถี่สูงมากเช่น 20KHz ขึ้นไป (Resonance Frequency) เราจะรู้สึกฟังนานๆเหมือนจัด เจ็บหู ครั้นหรี่ EQ แหลมลง เสียงก็ทึบ ไม่โปร่ง และอาการจัดดังกล่าวเอาแน่นอนไม่ได้ สังเกตว่าจะเกิดเมื่อเสียงแหลมนั้นกระโชกแรงๆขึ้นมา (ถ้าไม่กระโชก จะไม่จัด) คล้ายปัญหาสั่นค้างที่ปลายแหลมสุด (Ringing)

3.6 บางครั้งเหมือนปลายแหลมสาก,แยงหู พอหรี่ EQ แล้วเหมือนรื่นหูขึ้นแต่ก็กลับทึบลง นั่นเป็นปัญหาของพวก อุปกรณ์ป้องกันดอกแหลม ไม่ว่า Polyswitch (ที่เห็นเป็นแผ่นกลม แบน เล็กๆสีน้ำตาล) หรือกระเปาะแก้วที่ติดไฟสว่างเวลาสัญญาณแรง

          หมายเหตุ ทั้ง 3 กรณีทุ้ม,กลาง,แหลม ถ้าขดลวดที่เอามาพันวอยซ์คอยล์เขาเดินหัวท้ายเส้นลวดย้อนทิศที่ควรจะเป็น แม้ถูกเฟส เสียงลอยออกมาก็จริงแต่จะแบน เป็นไม้หน้าสาม เหมือนยก EQ แล้วไม่ “หลุด”ออกมา ยิ่งยกยิ่งแบน ถ้ามีปัญหานี้เป็นอันว่า ต้องโยนดอกลำโพงทิ้งไปอย่างเดียว ไม่มีทางแก้ใดๆทั้งสิ้น

          สุดท้าย ตัวปรี EQ เองก็ผลมหาศาล คุณไม่สงสัยหรือว่าทำไมมันมีราคาหลากหลายเหลือเกิน ปรี EQ อนาล็อกด้วยกันนี่แหละ มีราคาตั้งแต่ 700 บาท,พันกว่าบาท,สองพันกว่าบาท,สี่พันกว่าบาท,เจ็ดพันกว่าบาท, หมื่นเศษ, จนถึง สามหมื่นกว่าบาท

          มันขึ้นอยู่กับวงจรที่ใช้ พวกถูกๆจะใช้วงจรง่ายๆแบบวงจรทุ้ม,แหลมถูกๆหลายๆวงจรมาเรียงผสมกัน ไม่มีภาคขับ,ภาคกันชนใดๆเสียงจะยกไม่ค่อยเห็นผล ป้อแป้ ไม่มีพลัง สั่งไม่ได้ ดื้อด้าน บ่อยๆที่ไม่ยกดีกว่ายก

          แพงขึ้นมาหน่อย ระดับกลาง 3 – 5 พันบาท จะเป็นวงจร EQ จริงๆมีภาคกันชน,ภาคขับ ไม่โหลดกันเอง ภาคจ่ายไฟนิ่ง,เต็มที่ อิ่มกว่า ยก-ลดได้เยอะ (+/- 12dB ) รับการสวิงสัญญาณได้ดี สัญญาณขาออกแรงดี

          ระดับ 7 พัน – 1 หมื่นบาท จะคล้ายระดับ 3 – 5 พันบาท แต่วอลลูมที่ใช้จะปิดผนึกกันฝุ่นอย่างดี เกรดสูง การบั่นทอนซ้าย-ขวาเที่ยงตรง ใกล้เคียงกันมากขึ้น แทบทุกองศาการหมุน (Tracking Error ต่ำ) คัดคุณภาพอะไหล่ โดยเฉพาะตัว IC ที่ใช้เกรดจะค่อนข้างดี ไว้ใจได้แต่ยังไม่สุดยอด

          ระดับ 1 หมื่นบาทขึ้นไปถึง 3 หมื่นบาท ตัวถัง,แผงวงจรดีขึ้น คัดเกรดอะไหล่เต็มที่ (IC ระดับทางทหาร) สเปคสูง ขึ้น การรบกวนกันเองระหว่างช่วงความถี่ที่ชิดติดกันจะมีน้อย (ค่าQ ดีกว่า) วอลลูมให้ค่า Tracking เป๊ะๆกว่า,ภาคจ่ายไฟ แรงกว่า เสียงฉ่ำ พลิ้วกว่า การยก-ลดสั่งได้ดังใจมากกว่า มิติไม่เสีย หรือ เสียก็น้อยกว่า บางรุ่นแยกภาคจ่ายไฟอีกกล่องต่างหาก หรือ มีระบบเข้าแบบบาลานซ์ด้วย

          ปรี EQ มีนับร้อยๆรุ่นในท้องตลาด แต่จะหาเสียงและมิติดีๆน่าจะเป็นหลักสิบเท่านั้น

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459